ประเพณีแห่เจ้าพ่อเจ้าแม่ปากน้ำโพ คือ งานประเพณีที่มีการอนุรักษ์สืบสานและปฏิบัติสืบทอดต่อกันมาจากบรรพบุรุษรุ่นสู่รุ่น ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อและความศรัทธาต่อองค์เทพเจ้าต่างๆ ตามความเชื่อของชาวจีน ตามลัทธิความเชื่อขงจื้อและศาสนาพุทธมหายาน การรวมกลุ่มทางสังคมในงานประเพณีดังกล่าวนั้น สะท้อนความพยายามในการประสานความร่วมมือของกลุ่มสมาคมและองค์กรต่างๆ ในนครสวรรค์เข้าด้วยกัน นอกจากนี้ ยังมีการปฏิบัติพิธีกรรมและพิธีการที่แฝงไว้ด้วยเรื่องของความเชื่อ ขนบธรรมเนียมจารีตประเพณีแบบจีนที่ชาวจีนนำติดตัวมาด้วยหรือยึดถือปฏิบัติเป็นธรรมเนียมสืบต่อมานั้น ได้แก่ ความเชื่อเกี่ยวกับเทพเจ้า ผี เทวดา และวิญญาณบรรพบุรุษ ซึ่งมีความจำเป็นต้องเคารพเซ่นไหว้ ถือเป็นศาสนกิจที่ต้องปฏิบัติเพื่อความเป็นสิริมงคลโดยประเพณีความเชื่อดังกล่าวมีทั้งการปฏิบัติที่บ้าน ศาลเจ้า วัด โรงเจ และสุสานบรรพบุรุษ (ฮวงซุ้ย) ถือว่ามีส่วนสำคัญในการหลอมรวมความสามัคคีของพี่น้องประชาชนในตลาดปากน้ำโพ จังหวัดนครสวรรค์
ประเพณีแห่เจ้าพ่อเจ้าแม่ปากน้ำโพ เป็นประเพณีท้องถิ่นของจังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งปฏิบัติสืบเนื่องกันมาหลายชั่วอายุคน เริ่มครั้งแรกเมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจน จากคำบอกเล่าของผู้อาวุโสเชื่อว่า การแห่เจ้า มีมาก่อนที่จะเกิดโรคระบาด จนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ. 2560-2562 เกิดโรคห่า (อหิวาตกโรค) ระบาด ทำให้ประชาชนล้มตายเป็นจำนวนมาก ชาวบ้านต้องพึ่งพาหมอตามบ้านหรือชินแสจีน แต่ก็ไม่สามารถยับยั้งโรคระบาดได้ ส่วนใหญ่หันไปพึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งในครั้งนั้นเจ้าพ่อแควใหญ่ (เจ้าพ่อเทพารักษ์) ได้ประทับทรงทำพิธีรักษาโรคด้วยการเขียน “ยันต์กระดาษ” หรือเรียกว่า “ฮู้” ให้ติดตัวหรือปิดไว้หน้าบ้าน และได้นำฮู้เผาไฟเพื่อทำน้ำมนต์ให้ประชาชนดื่มกินและประพรมรอบตลาด บริเวณใดที่ได้ทำพิธีแล้วก็จะใช้ผ้าแดงกั้นไว้ให้ประชาชนผ่านไปมาเส้นทางนี้ได้ เป็นผลให้การระบาดของโรคหมดไป ความศักดิ์สิทธิ์จากปากต่อปากที่เล่าขานและแรงศรัทธา จึงทำให้มีผู้คนศรัทธามากราบไหว้เพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งจากแรงศรัทธานี้ทำให้ทั้งชาวไทย จีนกวางตุ้ง จีนแคะ จีนแต้จิ๋ว ได้เข้ามาร่วมในขบวนแห่ โดยนำเอาศิลปะของตนเข้าร่วมในขบวนแห่ เช่น ขบวนสิงโต ขบวนมังกร ขบวนเอ็งกอ ขบวนล่อโก๊ว ฯลฯ ทั่วตลาดปากน้ำโพ เพื่อความเป็นสิริมงคลต่อกิจการและครอบครัว
ชุมชนชาวจีนปากน้ำโพ เป็นชุมชนที่มีชาวจีนโพ้นทะเลมาอาศัยอยู่รวมกันเป็นกลุ่มกับคนเชื้อสายจีนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยมาก่อน ด้วยวัฒนธรรมของคนจีนที่ติดตัวมา คนจีนที่ใช้แซ่เดียวกันหรือมาจากหมู่บ้านเดียวกัน อำเภอเดียวกัน หรือพูดภาษาจีนสำเนียงเดียวกัน ย่อมมีความรู้สึกเป็นพี่เป็นน้องพวกเดียวกัน ดังนั้น เมื่ออพยพมาอยู่ร่วมกัน จึงช่วยเหลือและพึ่งพาอาศัยกัน รวมทั้งมีการอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมตามแบบฉบับจีน ยังคงมีอยู่และสืบทอดต่อกันมาหลายชั่วอายุคน
ปัจจุบันประเพณีการแห่เจ้าพ่อเจ้าแม่ปากน้ำโพ ที่จัดขึ้นในเทศกาลตรุษจีนได้สร้างชื่อเสียงให้กับจังหวัดนครสวรรค์เป็นอย่างมาก โดยมี “ขบวนแห่มังกรทอง” ซึ่งชาวจีนถือว่าเป็นเทพเจ้าที่บันดาลคุณประโยชน์อย่างมากแก่มวลมนุษย์ จึงถือได้ว่าเป็นงานประเพณีอันยิ่งใหญ่และมีการสืบทอดกันมายาวนาน เพื่อแสดงความกตัญญู โดยมีการเชิดชูและนำเจ้าพ่อเจ้าแม่ในศาลเจ้าออกมาร่วมขบวนแห่ไปตามถนนต่าง ๆ ในตัวเมืองนครสวรรค์ ซึ่งรูปแบบการจัดงานได้มีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคตามสมัย การจัดขบวนแห่ก็ได้จัดให้มีขบวนแห่กลางคืน มีแสงสีที่สวยงามเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก เป็นงานประจำปีในวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือนหนึ่งของจีน เพื่อเป็นสิริมงคลในช่วงเทศกาลตรุษจีนที่ยึดถือปฏิบัติมาแต่โบราณสืบทอดกันมากกว่า 100 ปี
