ประเพณีการเลี้ยงข้าวแช่

ประเพณีงานบุญข้าวแช่ เป็นประเพณีที่จัดขึ้นเฉพาะบ้านบางมะฝ่อเท่านั้น เป็นประเพณีที่ลูกหลานของชาวบ้านบางมะฝ่อสืบทอดมาจากคุณยายพิณ และคุณยายพลอย ซึ่งเป็นชาวบ้านบางมะฝ่อ ตั้งบ้านเรือนอยู่ทางทิศใต้ของวัดบางมะฝ่อ หมู่ที่ ๒ ตำบลบางมะฝ่อ อำเภอโกรกพระ จังหวัดนครสวรรค์ เดิมข้าวแช่ทำรับประทานในหมู่ญาติมิตร และทำไปถวายพระในวันสงกรานต์ ซึ่งเป็นช่วงที่ลูกหลานมาอยู่พร้อมหน้ากันทุกปี ประจวบกับสงกรานต์อากาศร้อน ข้าวแช่จึงเป็นอาหารพิเศษที่อร่อยชื่นใจเหมาะกับสภาพอากาศ จึงได้มีการสืบทอดประเพณีบุญข้าวแช่สืบต่อกันมาจนถึงทุกวันนี้ ข้าวแช่ อาหารพื้นบ้านของชาวมอญ เป็นการนำข้าวชนิดที่ดีที่สุดที่จะหาได้ (ต้องเป็นข้าวเก่าร้อยเปอร์เซ็นต์) นำมาหุงให้ค่อนข้างสวย คือเม็ดข้าเต็มเมล็ดไม่สุกเกินไป แล้วนำมาขัดอบกับเทียนและดอกมะลิ แช่ไว้ในน้ำสะอาดและเย็น น้ำที่แช่ต้องเย็นมาก (ในสมัยก่อนใช้น้ำฝนบริสุทธิ์ใส่ในโอ่งดิน หรือคนโฑดินของชาวเชียงใหม่) เพราะน้ำในโอ่งนี้จะเย็นชื่นใจ แต่ในปัจจุบันใช้ใส่ในตู้เย็น หรือนำน้ำแข็งใส่แทน

ในวันที่ ๑๔ เมษายนของทุกปี โดยชาวบ้านจะร่วมตัวกันมาทำบุญถวายภัตตาหาร (ข้าวแช่) แด่พระภิกษุสงฆ์ ณ ศาลาการเปรียญวัดบางมะฝ่อ ชมการแสดงทางศิลปะและวัฒนธรรมของชาวตำบลบางมะฝ่อ และจากนั้นจะมีการร่วมรับประทานอาหารกลางวัน (ข้าวแช่) สรงน้ำพระรูปหล่อหลวงพ่ออ่อน อดีตเจ้าอาวาสวัดบางมะฝ่อ