โรคต่างๆ

 โรคต่างๆ

2.2.1 มะเร็งลำไส้

มะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นเซลล์มะเร็งของเนื้อเยื่อลำไส้ ชนิดที่พบบ่อยคือมะเร็งที่เติบโตมาจากเนื้อเยื่อที่มีลักษณะเป็นต่อมในลำไส้ใหญ่ก่อนที่เซลล์จะกลายเป็นมะเร็ง บางครั้งอาจพบลักษณะคล้ายติ่งเนื้องอกในลำไส้ขึ้นมาก่อนได้ซึ่งการผ่าตัดติ่งเนื้องอกออก สามารถป้องกันไม่ให้เซลล์เปลี่ยนแปลงเป็นมะเร็งได้ มะเร็งลำไส้ใหญ่ที่ไม่ได้รับการรักษาอาจลุกลามทะลุผนังลำไส้หรือแพร่กระจายต่อไปยังตับ ปอด สมอง หรือกระดูกได้

อาการเบื้องต้นของการเกิดโรคมะเร็งลำไส้

1)  การเปลี่ยนแปลงของการขับถ่ายประจำ หรือลักษณะอุจจาระลีบเล็กลง

2) ท้องเสียหรือท้องผูกสลับกัน

3) อึดอัดแน่นท้อง มีอาการเกร็งคล้ายเป็นตะคริวในท้อง

4) น้ำหนักลด โดยไม่ได้จำกัดอาหาร

5) เลือดออกทางทวารหนัก หรือปนมากับอุจจาระ

6) เบื่ออาหาร อ่อนเพลียอย่างผิดปกติ

การรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่

1) การผ่าตัด

โดยส่วนใหญ่จะเป็นการผ่าตัดส่วนที่เป็นมะเร็งและต่อมน้ำเหลืองข้างเคียงออก ผู้ป่วยบางรายอาจต้องมีการนำลำไส้มาเปิดทางหน้าท้องและขับถ่ายทางถุงหน้าท้อง ซึ่งอาจเป็นการชั่วคราวหรือถาวรก็ได้ 

2) การใช้รังสีรักษา

รังสีรักษา สามารถให้ก่อนหรือหลังผ่าตัดเพื่อทำลายโรคบริเวณต้นกำเนิด การให้รังสีรักษาก่อนผ่าตัดสามารถช่วยลดขนาดโรคทำให้ผ่าตัดได้ง่ายขึ้น ส่วนการให้หลังผ่าตัดสามารถช่วยทำลายโรคที่อาจหลงเหลืออยู่ 

3) การใช้ยาเคมีบำบัด

        ยาเคมีบำบัดสามารถทำลายเซลล์มะเร็งที่อาจหลงเหลืออยู่ก่อนหรือหลังการผ่าตัดได้แต่อาจมีผลข้างเคียงมากในผู้ป่วยบางราย ซึ่งปัจจุบันสามารถให้ยาบรรเทาผลข้างเคียงดังกล่าวร่วมด้วย

2.2.2 โรคลำไส้เเปรปรวน

ลำไส้แปรปรวนเป็นภาวะการทำงานของลำไส้ที่ผิดปกติ ทำให้เกิดอาการปวดท้องร่วมกับการขับถ่ายที่เปลี่ยนไป โดยอาจเปลี่ยนที่ความถี่ หรือลักษณะของอุจจาระ โรคนี้มักเรื้อรั้งโดยอาการอาจเป็นๆ หายๆ ซึ่งแม้จะไม่ใช่โรคร้ายแรงแต่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิต

สาเหตุของโรค

ในปัจจุบันยังไม่พบสาเหตุที่แน่นอน จัดว่าเป็นโรคในกลุ่ม Functional Bowel Disorder ชนิดหนึ่ง หมายความถึงโรคที่ไม่พบความผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร ไม่ว่าจะเป็นจากการตรวจร่างกายอย่างละเอียดหรือการตรวจเพิ่มเติมเพื่อสืบค้นหาสาเหตุ ไม่พบว่ามีการอักเสบและไม่พบว่าเป็นเนื้องอกหรือมะเร็งแต่อย่างใด อาการต่าง ๆ ของโรคนี้เชื่อว่าเกิดจากความผิดปกติของการหดตัวของกล้ามเนื้อเรียบที่ผนังลำไส้ จากหลักฐานที่มีอยู่เชื่อว่ามีหลายปัจจัยที่เป็นสาเหตุของโรคไอบีเอส ซึ่ง 3 ปัจจัยที่สำคัญได้แก่

1) การบีบตัวหรือการเคลื่อนตัวของลำไส้ผิดปกติ ซึ่งเป็นผลมาจากการหลั่งสารหรือฮอร์โมนบางอย่างในผนังลำไส้ผิดปกติ นำไปสู่อาการปวดท้อง ท้องเสีย หรือท้องผูก

2) ระบบประสาทที่ผนังลำไส้ไวต่อสิ่งเร้าหรือตัวกระตุ้นมากผิดปกติ เช่น หลังกินอาหาร ซึ่งในคนปกติจะกระตุ้นให้ลำไส้มีการบีบตัวหรือเคลื่อนตัวเพิ่มขึ้นอยู่แล้ว แต่ในผู้ป่วยไอบีเอส จะมีการตอบสนองมากผิดปกติ มีการบีบตัวและการเคลื่อนตัวของลำไส้มากขึ้น จนมีอาการปวดท้องและท้องเสีย หรือท้องผูก เป็นต้น นอกจากอาหารแล้วตัวกระตุ้นอื่นที่สำคัญ คือ ความเครียด หรือการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ก็มีส่วนเสริมให้มีอาการมากขึ้น

3) มีความผิดปกติในการควบคุมการทำงานของแกนที่เชื่อมโยงระหว่างประสาทรับความรู้สึก ระบบกล้ามเนื้อของลำไส้และสมอง โดยเกิดจากความผิดปกติของสารที่ควบคุมการทำงานซึ่งมีหลายชนิดและทำหน้าที่แตกต่างกัน

อาการบอกโรค 

ผู้ป่วยมักทรมานจากการปวดท้อง ซึ่งเมื่อได้ถ่ายอุจจาระจะรู้สึกหายปวดและสบายขึ้น ส่วนใหญ่มักปวดที่ท้องน้อย ลักษณะปวดเกร็ง หลายคนสังเกตพบว่าอาการปวดจะดีขึ้นหลังถ่ายอุจจาระ อาการปวดท้องแต่ละครั้งรุนแรงไม่เท่ากัน บางครั้งปวดมาก บางครั้งปวดน้อย ร่วมกับการมีการขับถ่ายที่ผิดปกติ เช่น ท้องผูกหรือท้องเสีย หรืออย่างใดอย่างหนึ่งสลับกัน โดยแต่ละรายจะมีอาการหนึ่งอาการใดเด่นกว่าอีกอาการหนึ่ง ผู้ป่วยอาจรู้สึกถ่ายอุจจาระไม่ค่อยสุด ท้องผูก หรืออาจมีมูกปนออกมาเวลาถ่ายอุจจาระ ลักษณะอุจจาระจะเปลี่ยนไปเป็นก้อนแข็งหรือเหลวจนเป็นน้ำ ถ่ายเป็นมูกปนอุจจาระมากขึ้น

การหลีกเลี่ยงให้ห่างไกลจากโรคลำไส้แปรปรวน
1) ลดการรับประทานเนื้อสัตว์หรือไข่ ซึ่งเป็นโปรตีนย่อยยาก ควรเน้นรับประทานอาหารประเภทที่ย่อยง่าย เช่น เต้าหู้ ถั่วเหลือง และเนื้อปลา
2) หลีกเลี่ยงการรับประทานของมัน ของทอด หรือเบเกอรี่ที่อุดมไปด้วยนม เนย
3) รับประทานอาหาร ผักผลไม้ที่อุดมไปด้วยเส้นใย
4) รับประทานอาหารให้ตรงเวลา ไม่ควรอดอาหาร ไม่ควรเร่งรีบรับประทาน
5) หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารรสจัด ซึ่งก่อให้เกิดแก๊สในกระเพาะอาหาร
6) ดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว และควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่ม ชา กาแฟ และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
7) ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

2.2.3 โรคลำไส้อุดตัน

เป็นภาวะที่มีอะไรไปอุดลำไส้ ทำให้ของเหลวภายในลำไส้ หรืออุจจาระผ่านลงไปไม่ได้ เหมือนเราเปิดน้ำจากสายยาง แล้วเอานิ้วอุดไว้ น้ำจะผ่านไปไม่ได้ แล้วเกิดการย้อนกลับ

สาเหตุของโรค

ลำไส้เล็กอุดตัน  สาเหตุ 80% เกิดจากพังผืดในลำไส้ จากการที่คนไข้เคยผ่าตัดในช่องท้องมาแล้ว

ลำไส้ใหญ่อุดตัน สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากมะเร็งลำไส้

อาการของโรค

ไม่ถ่าย ไม่ผายลม คลื่นไส้อาเจียน ท้องโตมากขึ้น ​ปวดท้อง ทั้งนี้ขึ้นกับตำแหน่งของจุดอุดตันด้วย ถ้าเป็นลำไส้เล็ก อาการ คลื่นไส้อาเจียน จะเด่นกว่า ถ้าลำไส้ใหญ่ อาการไม่ถ่ายไม่ผายลมจะเด่นกว่า จนสุดท้าย มันจะย้อนกลับขึ้นไปถึงจะมีอาเจียนได้ และนอกจากนี้ยังเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ คือการอุดตันเป็นมาก ลำไส้ส่วนต้นจะขยายขึ้นมาก สุดท้ายอาจมีภาวะลำไส้แตกได้ คนไข้จะปวดท้องมากๆ มีไข้สูง อาจมีติดเชื้อในกระแสเลือด อาจรุนแรงถึงเสียชีวิตได้ ถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ทันท่วงที

มีวิธีการรักษา

1) สำหรับการรักษาลำไส้เล็กอุดตันจากพังผืด ถ้าไม่มีภาวะแทรกซ้อน หรือไม่ได้อุดตัน 100% เราจะใช้วิธีให้ลำไส้ได้พัก คืองดน้ำงดอาหาร ร่วมกับใส่สายสวนจมูก เพื่อระบายของเหลวออกมา ส่วนใหญ่อาการจะดีขึ้น

2) ลำไส้ใหญ่อุดตัน ส่วนใหญ่จบด้วยการผ่าตัดฉุกเฉิน มักจะต้องมีการตัดต่อลำไส้ หรือมีทวารเทียมทางหน้าท้องได้

2.2.4 โรคลำไส้รั่ว

ภาวะลำไส้รั่ว เป็นภาวะการดูดซึมของลำไส้ผิดปกติ โดยทั่วไปแล้วเซลล์เยื่อบุผนังลำไส้ หรือ เซลล์ดูดซึมสารอาหารของลำไส้เล็กจะเรียงชิดติดกัน เพื่อป้องกัน คัดกรอง และควบคุมสารพิษ รวมทั้งเชื้อโรคที่จะเข้าสู่กระแสเลือด หากเซลล์เยื่อบุผนังลำไส้อักเสบ หรือมีการบวมของเซลล์เยื่อบุผิวลำไส้จึงไม่เรียงชิดติดกัน ทำให้เกิดช่องว่างที่บริเวณนี้ขึ้นมา ซึ่งตรงช่องว่างนี้เองทำให้สิ่งแปลกปลอม เชื้อแบคทีเรีย สารอาหารที่เป็นโมเลกุลขนาดใหญ่ สารพิษต่างๆ รั่วซึมเข้าสู่ร่างกาย สู่กระแสเลือด เข้าไปรบกวนระบบภูมิต้านทาน ทำให้เกิดกระบวนการการอักเสบต่างๆ ภายในร่างกายตามมา

ลำไส้รั่วส่งผลให้เกิดภาวะการอับเสบในร่างกายแบบเรื้อรัง เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวาน เพิ่มความเสี่ยงให้เกิดโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ เส้นเลือดในสมองตีบ ความดันโลหิตสูง อันเนื่องมาจากกระบวนการอักเสบที่เพิ่มขึ้น แม้กระทั่งการไปรบกวนหรือกระตุ้นการตอบสนองของเม็ดเลือดขาว ทำให้เม็ดเลือดขาวสับสนเกิดภาวะภูมิแพ้ง่ายขึ้น ยังมีผลต่อการอักเสบในเซลล์สมอง มีผลต่อการนอนหลับ อารมณ์ ความจำระยะสั้น

สาเหตุของโรค 

1) ยาแก้ปวดหรือแก้อักเสบต่างๆ ยากลุ่มนี้จะมีผลต่อความแข็งแรงของเยื่อบุในผนังทางเดินอาหาร และเป็นเหตุผลที่ทำให้เกิดภาวะลำไส้รั่วได้หากใช้ยากลุ่มนี้ติดต่อกันนาน

2) ยาปฏิชีวนะหรือยาฆ่าเชื้อ โดยในลำไส้จะแข็งแรงได้นอกจากผนังของลำไส้แล้ว ยังมีเรื่องสายพันธุ์ของแบคทีเรียหรือสมดุลของแบคทีเรียในร่างกายอยู่ด้วย เมื่อเรากินยายาปฏิชีวนะหรือยาฆ่าเชื้อไปบ่อยๆ หรือกินมากๆ แล้วไม่ได้เติมเต็มแบคทีเรียตัวดีเข้าไปทดแทน จะก่อให้เกิดการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ตัวร้าย หรือจุลินทรีย์ชนิดอื่น เช่น เชื้อรา หรือ แบคทีเรียตัวอื่นที่ร่างกายไม่ต้องการเพิ่มขึ้นจนทำให้เกิดกระบวนการอักเสบของเยื่อบุลำไส้ได้

3) ความเครียด ความวิตกกังวล การนอนหลับไม่เพียงพอ\

4) ภาวะภูมิแพ้อาหารแฝง

อาการของโรค

1) ปวดศีรษะหรือปวดตามข้อต่าง ๆ ไม่ทราบสาเหตุ

2) น้ำหนักขึ้นง่าย ขึ้นผิดปกติ

3) มีแก๊สในระบบทางเดินอาหารมากผิดปกติ

4) มีภาวะภูมิแพ้อาหารแฝง ภาวะการไม่สามารถย่อยอาหารบางชนิดได้ เช่น อาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต

5) มีปัญหาระบบทางเดินอาหาร เช่น ปวดท้องบ่อยๆ ท้องเสียเรื้อรัง หรือท้องผูก 1 ครั้งต่อสัปดาห์ขึ้นไป ท้องอืด6) อาหารไม่ย่อยเป็นประจำ

7) นอนไม่ค่อยหลับ อ่อนเพลีย

8) มีผื่นคัน มีสิวขึ้นเรื้อรัง

การรักษาภาวะลำไส้รั่ว

1) ทำความสะอาดของเสียออกจากลำไส้ เช่น หลีกเลี่ยงอาหารที่แพ้ การทำ Colon Detox

2) การซ่อมแซมเยื่อบุลำไส้ที่ไม่แข็งแรง โดยเสริมกรดอะมิโน รวมไปถึงวิตามินอี สังกะสี ซีลีเนียม และโอเมก้า–3 ที่มีส่วนช่วยในการซ่อมแซมเยื่อบุผนังลำไส้ที่ได้รับบาดเจ็บและลดการอักเสบของลำไส้ได้

3) การปรับสมดุลร่างกาย โดยปรับเรื่องอาหาร เลี่ยงอาหารที่แพ้ ลดความเครียด

4) การเติมเต็มแบคทีเรียดีเข้าไป ได้แก่ จุลินทรีย์ดี ซึ่งพบในโยเกิร์ต คีเฟอร์ ถั่วหมัก กิมจิ และอาหาร Probiotic เช่น กล้วย น้ำผึ้ง หน่อไม้ฝรั่ง กระเทียม แก่นตะวัน หอมหัวใหญ่ และมะเขือเทศ เป็นต้น