การรับมือกับวิธีการดูเเลทารก

โดยหลักแล้ว การดูแลทารกแรกเกิด มีสองเรื่องด้วยกัน คือการดูแลทางด้านร่างกายและการดูแลทางด้านจิตใจ การดูแลทางด้านร่างกาย คือ เรื่องโภชนาการอาหาร, การให้ทารกนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ ในสถานที่ที่สะอาด อากาศถ่ายเทสะดวก และปลอดภัย, การดูแลระบบขับถ่าย, การดูแลความสะอาด, การดูแลสุขภาพร่างกายให้อบอุ่นแข็งแรง และการดูแลเรื่องระบบทางเดินหายใจ

การดูแลทางด้านจิตใจ คือ การเลี้ยงดูทารกแรกเกิดด้วยความรักและความอบอุ่น ซึ่งจะเป็นการสร้างพื้นฐานทางด้านจิตใจที่ดีให้กับลูกตั้งแต่ยังเล็ก และจะมีผลต่อเนื่องไปจนกระทั่งเขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ การดูแลทารกแรกเกิดในเรื่องต่างๆ มีรายละเอียดดังนี้

1.การอุ้มทารกแรกเกิด

การอุ้มทารกแรกเกิดมี 3 แบบ คือ การอุ้มในท่าปกติ การอุ้มเรอ และการอุ้มปลอบ

1.1การอุ้มในท่าปกติ ทำได้โดยอุ้มทารกตะแคงเข้าหาทางหน้าอก ให้ท้ายทอยของทารกอยู่บนข้อพับแขนของ วางทอดแขนไปตามลำตัวของทารก อีกมืออุ้มช้อนส่วนก้นและช่วงขา ลำตัวทารกแนบชิดกับลำตัวของแม่ ให้ศีรษะ คอ และลำตัว อยู่ในแนวเดียวกัน

1.2 การอุ้มเรอ มีสองท่าคือท่าอุ้มพาดบ่า ให้หน้าท้องของทารกกดบริเวณไหล่ของแม่เพื่อไล่ลม และท่าอุ้มนั่งบนตัก โดยให้ทารกหันหน้าออก มือข้างหนึ่งจับที่หน้าอกของทารก ส่วนมืออีกข้างลูบหลัง ขณะลูบให้โน้มตัวทารกไปข้างหน้าเล็กน้อย เพื่อให้หน้าท้องถูกกดและไล่ลมออก

1.3การอุ้มปลอบ คล้ายกับการอุ้มเรอ แต่ต้องพูดคุยกับทารกไปด้วยเพื่อให้ทารกรู้สึกสงบและปลอดภัย

2.การอาบน้ำทารกแรกเกิด

การอาบน้ำทารกแรกเกิดต้องระวังในเรื่องของสถานที่และเวลาในการอาบ ควรอาบในบริเวณที่ไม่มีลมโกรก อาบวันละสองครั้งและสระผมวันละครั้ง (หรือตามสภาพอากาศ) ในช่วงสายๆ หรือบ่ายๆ ขณะที่มีอากาศอบอุ่น ควรอาบประมาณ 5-7 นาทีก็เพียงพอแล้ว เพราะถ้าอาบนานเกินไปจะทำให้ทารกไม่สบายได้ และไม่ควรอาบน้ำทันทีหลังให้นมแม่  ก่อนอาบต้องล้างมือและแขนให้สะอาด ผสมน้ำอุ่นครึ่งอ่าง แล้วใช้ศอกจุ่มน้ำเพื่อทดสอบอุณหภูมิของน้ำให้อุ่นพอดี ทำความสะอาดบริเวณใบหน้า ใบหู ซอกหู และสระผมให้เรียบร้อยก่อนอาบน้ำ การอุ้มลูกอาบน้ำในอ่างทำได้โดยใช้มือจับที่รักแร้ของลูก ให้ไหล่ของลูกพาดบนแขนของแม่ เพื่อล็อกตัวลูกให้อยู่กับที่ป้องกันลูกหลุดมือ ใช้ฟองน้ำชุบน้ำลูบตัวทารกให้เปียก ใช้สบู่ลูบทำความสะอาดบริเวณซอกคอ แขน ลำตัว ขา แล้วล้างออกให้สะอาด จากนั้นเปลี่ยนมาทำความสะอาดบริเวณหลัง ก้น และขา ของทารก หากทารกตัวโตน้ำหนักมาก สามารถสระผมและถูสบู่บนเบาะ แล้วค่อยอุ้มลงล้างตัวในอ่างอาบน้ำได้   เมื่ออาบน้ำเสร็จแล้วให้อุ้มทารกขึ้นจากอ่างอย่างระมัดระวัง แล้วนำมาวางบนที่นอน ใช้ผ้าเช็ดตัวซับน้ำให้แห้ง ไม่เช็ดหรือถูแรงๆ ใช้สำลีชุบน้ำต้มสุกที่เย็นแล้วสองก้อน เช็ดทำความสะอาดตาของทารกทีละข้าง โดยเช็ดจากหัวตาไปหางตา ใช้สำลีชุบแอลกอฮอล์เช็ดทำความสะอาดสะดือ โดยเช็ดวนจากด้านในออกมาด้านนอก เสร็จแล้วจึงสวมเสื้อผ้าให้ทารกให้เหมาะกับฤดูกาลและสภาพอากาศ และห่อตัวด้วยผ้าขนหนูเพื่อสร้างความอบอุ่นให้ร่างกาย

3. การดูแลสุขภาพช่องปากของทารกแรกเกิด

ควรใส่ใจสุขภาพช่องปากของทารกตั้งแต่แรกเกิด เพราะจะเป็นการป้องกันและลดโอกาสที่จะเกิดปัญหาฟันผุในอนาคต การทำความสะอาดช่องปากของทารกแรกเกิดทำได้โดย ใช้นิ้วพันผ้านุ่มๆ ชุบน้ำต้มสุกที่สะอาดเช็ดให้ทั่วภายในช่องปาก บริเวณลิ้น เหงือก เพดานปาก และกระพุ้งแก้ม เพื่อไม่ให้มีคราบน้ำนมติดอยู่ ทำความสะอาดวันละสองครั้ง เช้าและเย็นหลังให้นมแม่ แต่ไม่ควรเช็ดหลังกินนมอิ่มใหม่ๆ ควรเว้นช่วงสักพัก และควรแยกการใช้งานผ้าเช็ดในช่องปากกับผ้าอ้อมห่อตัว การทำความสะอาดช่องปากให้ทารกอย่างสม่ำเสมอ จะทำให้เขาคุ้นเคยกับการมีเครื่องมือเข้าไปในปาก เป็นการฝึกให้มีความเคยชินกับการมีช่องปากที่สะอาด

 4.การให้ภูมิคุ้มกันโรค (วัคซีน) สำหรับทารกแรกเกิด

ทารกแรกเกิดทุกรายจะได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันวัณโรค (BCG) และตับอักเสบ บี จากโรงพยาบาลหรือสถานีอนามัยใกล้บ้าน โดยจะบันทึกไว้ในสมุดบันทึกสุขภาพแม่และเด็กและจะนัดให้มารับวัคซีนครั้งต่อไป ต้องพาลูกมารับวัคซีนตามนัด หลังจากฉีดวัคซีนควรดูแลแผลทุกครั้ง โดยการเช็ดทำความสะอาดผิวหนังบริเวณที่ฉีดด้วยสำลีและน้ำสะอาด อย่าสะกิดตุ่มหนองหรือทายาบริเวณที่ฉีด สำหรับการฉีดวัคซีนป้องกันวัณโรคจะทำให้เกิดแผลเล็กๆ อาจเป็นฝีขนาดเล็กและอยู่ได้นาน 3-4 สัปดาห์ และจะเป็นๆ หายๆ ซึ่งไม่จำเป็นต้องใส่ยาหรือปิดแผล แต่หากพบความผิดปกติ เช่น บวม แดง ปวด แผลขยายใหญ่ขึ้น เป็นหนอง หรือต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้โตขึ้น ควรรีบมาปรึกษาแพทย์

5.การร้องไห้

เป็นเรื่องธรรมดาของทารกแรกเกิด เนื่องจากความรู้สึกไม่สบายกายไม่สบายใจ ทําให้คุณพ่อคุณแม่มือใหม่ไม่เข้าใจลูกน้อย เช่น ลูกเป็นเป็นโคลิค ที่มักเกิดขึ้นในช่วง 3 เดือนแรก ส่วนมากจะร้องนาน 100 วัน และมักจะร้องเป็นเวลา เมื่อลูกไม่สบาย ลูกเจ็บป่วยมักจะร้องโยเย หากคุณแม่ลองจับตัวลูกดูก็อาจจะรู้สึกได้ว่าลูกตัวร้อนผิดปกติ และอาจมีอาการน้ำมูกไหล ไอ อาเจียนร่วมด้วย ควรวัดอุณหภูมิเพื่อดูว่ามีไข้หรือไม่ หากพบว่าลูกไม่สบาย ควรรีบพาไปพบแพทย์ หากสังเกตว่าลูกน้อยมักจะร้องไห้โยเยทุกครั้งที่นอนหงาย และร้องไม่ยอมนอน อาจเกิดจากอาการท้องอืดหรือแน่นท้อง ควรอุ้มลูกพาดบ่า พร้อมลูบหลังอย่างแผ่วเบา ลูกจะเรอเอาลมออกมา แล้วจะรู้สึกสบายตัว