6. ภูมิแพ้

ภูมิแพ้เกิดจากปฏิกิริยาของภูมิคุ้มกันในร่างกายมีการตอบสนองที่มากผิดปกติต่อสารก่อภูมิแพ้ที่เข้าสู่ร่างกาย ทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรังที่อวัยวะต่างๆ เช่น ผิวหนัง เยื่อบุจมูก เยื่อบุตา เยื่อบุทางเดินหายใจ หรือเยื่อบุทางเดินอาหาร
ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดภูมิแพ้ในเด็ก
- ปัจจัยทางด้านพันธุกรรม ผู้ป่วยที่มีประวัติพ่อหรือแม่เป็นโรคภูมิแพ้ มักมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคภูมิแพ้ถึงร้อยละ20-40 และร้อยละ 50-80 ในกรณีที่พ่อและแม่เป็นโรคภูมิแพ้ โดยที่อาจจะไม่ได้เป็นภูมิแพ้ชนิดเดียวกันหรือแพ้สารก่อภูมิแพ้ชนิดเดียวกัน
- ปัจจัยทางด้านสิ่งแวดล้อม ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ร้อยละ 15 ไม่ได้มีพ่อหรือแม่ที่เป็นโรคภูมิแพ้ แต่เกิดจากการอยู่อาศัยในสิ่งแวดล้อมที่มีสารก่อภูมิแพ้อยู่เป็นจำนวนมาก เช่น ไรฝุ่น แมลงสาบ การเลี้ยงสัตว์ที่มีขนในบ้าน เช่นสุนัข แมว ตลอดจนการได้รับมลพิษทางอากาศ เช่น ควันจากท่อไอเสียรถยนต์ ควันจากโรงงานอุตสาหกรรม ควันบุหรี่ หรือการรับประทานนมสัตว์ เช่น วัวหรือแพะ รวมทั้งนมถั่วเหลืองในช่วงอายุ 6 เดือนแรกหลังคลอดแทนที่จะเป็นนมแม่ ก็เป็นปัจจัยเสียงที่ก่อให้เกิดโรคภูมิแพ้ได้
โรคภูมิแพ้ในเด็กที่พบบ่อย
1. โรคหืด เกิดจากทางเดินหายใจที่บวม ตีบแคบลง ซึ่งถูกกระตุ้นโดยปฏิกิริยาภูมิแพ้หรือสาเหตุอื่นๆ ร่วมด้วยจะมีอาการหายใจเสียงดัง “วี้ด” หอบ แน่นหน้าอก อาจเกิดอาการในตอนกลางคืน ขณะออกกำลัง หรือขณะเป็นหวัด
2. โรคเยื่อบุจมูกอักเสบภูมิแพ้ มีอาการ จาม คัน คัดจมูก มีน้ำมูกใส เป็นเรื้อรังหลายสัปดาห์ ในช่วงฤดูฝนหรือตลอดทั้งปี
3. โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง มี ผื่น คัน จนผิวหนังแดง เป็นเรื้อรัง โดยจะพบในเด็กเล็กและมีอาการมากเมื่อมีสิ่งกระตุ้น เช่น ร้อนเหงื่อออก แพ้อาหาร เป็นต้น
4. ผื่นลมพิษ จะมีอาการคัน บวม ผื่นขึ้นนูนหนาของผิวหนัง สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการแพ้ยาและอาหารบางชนิด นอกจากนี้การติดเชื้อไวรัส หรือแบคทีเรียบางชนิดก็เป็นสาเหตุที่พบได้
5.แพ้อาหาร เนื่องจากเกิดปฏิกิริยาแพ้โปรตีนในอาหาร ก่อให้เกิดอาการได้หลายระบบ ได้แก่ ระบบทางเดินอาหาร จะปวดท้อง อาเจียน ท้องเสีย ถ่ายมีมูกปนเลือด อาการทางผิวหนัง มีผื่นขึ้น ลมพิษ หรือระบบทางเดินหายใจ เช่น หอบ คัดจมูก มีน้ำมูกเรื้อรัง อาหารที่พบว่าเป็นสาเหตุได้บ่อยคือ นมวัว นมถั่วเหลือง ไข่ และแป้งสาลี เป็นต้น และอาการแสดงมักจะเริ่มต้นในขวบปีแรกและมีอาการเรื้อรัง เป็นๆ หายๆ
6.เยื่อบุตาอักเสบจากภูมิแพ้ มีอาการแสบตา คันตา น้ำตาไหล ขยี้ตาบ่อย จนขอบตาช้ำ สีคล้ำ โดยพบบ่อยร่วมกับอาการเยื่อบุโพรงจมูกอักเสบภูมิแพ้
การรักษาโรคภูมิแพ้ในเด็ก
1 .หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ เพื่อให้อาการของโรคภูมิแพ้ลดน้อยลง และทำให้ผู้ป่วยสามารถลดปริมาณการใช้ยาให้เหลือน้อยที่สุด
2.ใช้ยาอย่างสม่ำเสมอและทำตามคำแนะนำของแพทย์ รวมถึงการที่ผู้ป่วยนั้นสามารถล้างจมูกด้วยน้ำเกลือและใช้ยาพ่นผ่านจมูกได้อย่างถูกต้องตามขั้นตอน ฉะนั้นแพทย์และผู้ปกครองจะต้องคอยให้ความรู้ความเข้าใจอย่างถูกต้อง
3.ดูแลตนเองให้มีสุขภาพกายและใจที่แข็งแรงอยู่เสมอ ผู้ปกครองควรดูแลและแนะนำผู้ป่วย โดยการให้ผู้ป่วย
4.รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และที่สำคัญต้องหลีกเลี่ยงอาหารที่แพ้ นอกจากนั้นควรจะพักผ่อนให้เพียงพอและหมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำสมอ รวมถึงหลีกเลี่ยงสิ่งแวดล้อมที่กระตุ้นให้เกิดอาการได้ เช่น ควันบุหรี่ ควันท่อไอเสีย ควันจากโรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น
ชนิดของการรักษา
1 . แบบฉีดเข้าใต้ผิวหนัง (Subcutaneous immunotherapy) สามารถฉีดสารก่อภูมิแพ้ที่เป็นสาเหตุได้มากกว่า 1 ชนิด เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่ทดสอบ แล้วพบว่าแพ้มากกว่า 1 ชนิด อาจมีผลข้างเคียง เช่น อาการแพ้รุนแรง (Anaphylaxis) ได้ เนื่องจากเป็นการฉีดสารก่อภูมิแพ้ที่ผู้ป่วยแพ้เข้าไปใน ร่างกาย
2.แบบอมใต้ลิ้น (Sublingual immunotherapy) ในปัจจจุบัน มีการใช้ วัคซีนภูมิแพ้ ในรูปแบบการอมใต้ลิ้นเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีผลข้างเคียงน้อยสามารถใช้แทนการฉีดยาได้ โดยพบว่าผลการรักษาใกล้เคียงกับการฉีดวัคซีนภูมิแพ้
วิธีการป้องกัน
1.ไม่ควรเลี้ยงสัตว์ที่มีขนไว้ในบ้าน
2.ภายในห้องนอน ควรมีเฉพาะเครื่องนอนและของใช้ที่จำเป็น ไม่ควรสะสมหนังสือ รวมทั้งการใช้พรมทั้งในห้องและในบ้าน
3.ควรทำความสะอาดเครื่องนอน รวมไปถึงผ้าม่าน เครื่องปรับอากาศ เป็นประจำ
4.ผู้ปกครองไม่ควรสูบบุหรี่ในบ้านหรือบริเวณที่มีเด็กๆ อยู่
5.เด็กที่เป็นโรคหืด ผู้ปกครองควรให้ออกกำลังกายเป็นประจำ หากมีอาการหอบหลังการออกกำลังกาย
6.ปรึกษาแพทย์เพื่อใช้ยาควบคุมอาการอย่าง สม่ำเสมอ จะป้องกันอาการหอบได้ และใช้ยาขยายหลอดลมเมื่อมีอาการ
7.กำจัดเศษอาหารและขยะต่างๆ ที่อาจก่อให้เกิดแหล่งเพาะพันธุ์ของแมลงสาบ