สาเหตุ
เกิดจากการติดเชื้อไวรัส Dengue มี 4 สายพันธุ์ คือ DENV-1, DENV-2, DENV-3 และ DENV-4 แต่ละสายพันธุ์มีระดับความรุนแรงของโรคต่างกันไป หากเป็นไข้เลือดออกจากเชื้อสายพันธุ์ไหนแล้ว จะไม่เป็นสายพันธุ์นั้นอีก แต่สามารถกลับมาเป็นโรคไข้เลือดออกในสายพันธุ์อื่นๆ แทน
การติดต่อนั้นจะมียุงลายเป็นพาหะนำโรค โดยยุงลายจะออกหากินกัดคนในเวลากลางวัน เมื่อยุงลายตัวเมียดูดเลือดจากผู้ป่วยที่มีเชื้อเดงกี่เข้าไป เชื้อไวรัสเดงกี่ในยุงจะเพิ่มจำนวน และกระจายเชื้อเข้าไปสู่ต่อมน้ำลายของยุง เตรียมพร้อมที่จะปล่อยเชื้อให้กับคนที่ถูกกัดครั้งต่อไปได้ตลอดอายุของยุง ซึ่งอยู่ได้นาน 1-2เดือน

อาการ
1.ไข้ลงหรือไข้ลดลงแต่อาการแย่ลง ยังเบื่ออาหาร ไม่ค่อยเล่น และอ่อนเพลีย
2.คลื่นไส้ อาเจียน ตลอดเวลา
3.ปวดท้องมาก
4.มีเลือดออกมาก เช่น เลือดกำเดาไหล อาเจียน หรือถ่ายอุจจาระเป็นสีดำ
5.พฤติกรรมของเด็กเปลี่ยนไปจากปกติ
6.กระหายน้ำตลอดเวลา
7.ร้องกวนมากในเด็กเล็ก
8.ตัวเย็น สีผิวคล้ำลง หรือตัวลาย
9.ปัสสาวะน้อยลง หรือไม่ถ่ายปัสสาวะนานเกิน 4- 6 ชั่วโมง

โดยอาการของโรคแบ่งออกเป็น 3 ระยะ
1.ระยะไข้สูง เมื่อเริ่มเป็นจะมีไข้สูงถึง 38-40 องศาเซลเซียส แม้กินยาลดไข้ หรือเช็ดตัวแล้วไข้ก็ยังไม่ลด อยู่ 2-7 วัน ตาและใบหน้า มักจะแดงกว่าปกติ เบื่ออาหารและมีอาการซึม บางคนอาจมีผื่นขึ้น หรือพบว่ามีจุดเลือดออกขึ้นตามลำตัว แขน ขา
2.ระยะวิกฤติ จะเกิดประมาณวันที่ 3-6 หลังจากระยะไข้สูงระยะหนึ่งแล้ว ไข้จะลดลงอย่างรวดเร็ว แต่อาการทั่วไปจะดูเพลียมากขึ้น รวมถึงมีอาการปวดท้อง ท้องอืด เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน อาจมีอาเจียนเป็นเลือดถ่ายดำ ในกรณีที่รุนแรงมาก มือเท้าเย็น ปัสสาวะออกน้อย ผู้ป่วยอาจเกิดอาการช็อกได้ ให้รีบนำตัวส่งโรงพยาบาลทันที
3.ระยะฟื้นตัว เป็นระยะหลังไข้ลงโดยไม่มีอาการช็อก โดยเกล็ดเลือดจะเริ่มกลับสู่ภาวะปกติ ชีพจรและความดันโลหิตเริ่มคงที่ดีขึ้น อาการทั่วไปจะดีขึ้น เริ่มอยากอาหาร ปัสสาวะออกมากขึ้น มีผื่นแดงคันตามตัว

การดูแลรักษา
ปัจจุบันยังไม่มียาต้านเชื้อไวรัสสำหรับโรคไข้เลือดออก การรักษาจึงเป็นไปตามอาการ มีไข้ให้เช็ดตัวและรับประทานยาพาราเซตามอลลดไข้เท่านั้น ห้ามใช้แอสไพริน ไอบูโพรเฟน เฝ้าสังเกตอาการช็อกหลังจากไข้ลดลง ถ้าผู้ป่วยรับประทานอาหารได้น้อย อาจให้ดื่มนม น้ำผลไม้ หรือน้ำเกลือแร่ร่วมด้วย

การป้องกัน
โดยการทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายใกล้แหล่งที่อยู่อาศัยอย่างสม่ำเสมอ เช่น แหล่งน้ำขังในบ้าน และการป้องกันตัวเองและบุตรหลานไม่ให้ยุงกัด ด้วยการนอนในมุ้ง ทายากันยุง ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องทำอย่างสม่ำเสมอการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออกในเด็ก และการไปพบแพทย์เมื่อป่วยเป็นไข้ ควรติดตามอาการ และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์

วัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออก
การฉีดวัคซีนเปรียบเสมือนเป็นการสร้างเกราะภูมิคุ้มกัน โดยวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสเด็งกี่ สามารถป้องกันเชื้อไวรัสเด็งกี่ได้ทั้ง 4 สายพันธุ์ โดยปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกในประเทศไทยอยู่ 2 ชนิด ได้แก่
ชนิดที่ 1 คือ วัคซีนป้องกันไข้เลือดออก (Dengvaxia) ผลิตที่ประเทศฝรั่งเศส ฉีดได้ในเด็กอายุตั้งแต่
6-45 ปี สามารถฉีดได้เฉพาะคนที่เคยติดเชื้อไข้เลือดออกมาก่อนเท่านั้น หากไม่มีประวัติการติดเชื้อยืนยัน ต้อง
ทำการตรวจเลือดก่อนการฉีดวัคซีน แบ่งการฉีดเป็น 3 เข็ม ห่างกัน 6 เดือน (เดือน 0, 6 และ 12) มี
ประสิทธิภาพในการป้องกันโรคไข้เลือดออกได้ 65% ลดความรุนแรงของอาการเลือดออกได้ 93% และลด
อัตราการนอนโรงพยาบาลได้ 80% โดยประมาณ
ชนิดที่ 2 คือ วัคซีนป้องกันไข้เลือดออก (Qdenga) ผลิตที่ประเทศเยอรมนี ใช้ในผู้ที่มีอายุ 4-60 ปี
สามารถฉีดได้ทั้งในคนที่เคยและไม่เคยติดเชื้อไข้เลือดออกมาก่อน กล่าวคือ ทุกคนสามารถฉีดได้โดยไม่ต้องทำ
การตรวจเลือดใดก่อนการฉีดวัคซีน ฉีดเพียง 2 เข็ม ห่างกัน 3 เดือน (เดือน 0 และ 3) มีประสิทธิภาพในการ
ป้องกันไข้เลือดออกจากทุกสายพันธุ์ได้สูงถึง 80.2% และป้องกันการนอนโรงพยาบาลได้สูงถึง 90.4%